แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ.บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพุทธศาสนาของสมเด็จพระศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายกว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายย่อมจะทราบได้อยู่ดีแล้ว ดังนั้นจึงได้กล่าวถึงเรื่องราวอันเกี่ยวกับอาสาฬหบูชาและธรรมเทศนา ซึ่งเป็นหลักสำคัญเกี่ยวกับวันนี้ กล่าวคือธรรมจักรกัปวัตนสูตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้แสดงต่อปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายทุกคนควรจะมีสติสัมปชัญญะดำรงตนเป็นพิเศษในโอกาสเช่นนี้ เพื่อทำการระลึกนึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้นให้ปรากฏแจ่มแจ้งแก่ตนๆ จนเกิดความรู้สึกสว่างไสวและมีปิติปราโมทย์ในธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำในใจว่าวันนี้เป็นวันเดียวกันกับที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอนุตรธรรมจักร เหมือนกับว่าเราทั้งหลายได้มีอยู่ด้วยในวันนั้น ได้เห็นอยู่ด้วย ได้ฟังอยู่ด้วย และได้รับประโยชน์จากการที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในวันนั้น โดยสมควรแก่อุปนิสัยแห่งตนๆ และมีความรู้สึกว่าวันนี้เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ในระดับเรียกว่าสูงสุด ซึ่งมีอยู่ 3 วันดัวยกันคือ วันวิสาขบูชาเพ็ญเดือนอาสาฬหเป็นวันเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งด้วนสรีระร่างกาย และทั้งโดยธรรม คือโดยการตรัสรู้ หรือที่เรียกว่าเกิดขึ้นโดยจิตใจ หรือเรียกว่าเกิดขึ้นโดยอริยะชาติ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกเกี่ยวกับองค์พระศาสดาเองดังนี้ ส่วนวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นวันที่ระลึกเกี่ยวกับพระธรรม เพราะว่าพระองค์ทรงแสดงธรรมในวันนี้เป็นปฐมฤกษ์ และธรรมที่ทรงแสดงนั้นเป็นใจความทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เป็นหลักธรรมที่เป็นตัวพระพุทธศานาที่พระองค์ทรงประกาศว่า “อุปเพตุอันอนุสสุเตตุ ธรรมเมสุ” โดยธรรมทั้งหลายที่ตถาคตไม่ค่อยได้ยินได้ฟังมาแต่กาลก่อนให้ทรงรู้ธรรมนั้นและตรัสสอนธรรมนั้น คือ ธรรมจักรกัปวัตนสูตร ดังนั้นการแสดง ธรรมจักรกัปวัตนสูตร จึงเป็นการแสดงธรรมที่เป็นตัวพระพุทธศาสนาเราจึงถือเอาวันนี้เป็นวันพระธรรม
สำหรับวันมาฆบูชานั้นเป็นวันที่พระอรหันต์ทั้งหลายประชุมกัน 1,250 รูปมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประธานเรียกว่า “มหาสังฆสันนิบาต” ทรงประกาศใจความสั้นๆ แก่หมู่แห่งพระภิกษุสงฆ์นั้นเหมือนกับเป็นการประดิษฐานหมู่สงฆ์หรือคณะสงฆ์ในพุทธศาสนาลง อย่างที่เรียกว่าเป็นทางการ เป็นกิจลักษณะ หรือเป็นการประกาศการตั้งขึ้นโดยสมบูรณ์ มีอยู่โดยสมบูรณ์แห่งพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ดังนั้นเราจึงเรียกวันมาฆบูชานั้นว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระสงฆ์ วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระธรรม วันมาฆบูชาเป็นที่ระลึกแก่พระสงฆ์ มีอยู่ 3 วันด้วยกัน ในลักษณะที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน บัดนี้วันชนิดนั้นก็ได้มาถึงเข้าแล้ววันหนึ่ง คือวันอาสาฬหบูชานี้ ท่านทั้งหลายจงกระทำในใจให้ดีที่สุดที่จะทำได้ เพื่อกระทำสิ่งที่เรียกว่าอาสาฬหบูชา สิ่งที่เรียกว่าบูชานั้นคนโดยมากรู้จักแต่การบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน หรือบูชาด้วยวัตถุสิ่งของก็เลยเข้าใจผิดว่าการบูชานั้นคือการกระทำเพียงเท่านั้น ถ้าถือเอาตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระประสงค์แล้ว พระองค์ทรงมุ่งหมายให้สาวกทั้งหลายบูชาพระองค์ด้วยการบูชาอีกแบบหนึ่งเรียกว่า “ปฏิปัติบูชา” สิ่งที่เรียกว่า “ปฏิปัติบูชา” นี้หมายถึงการบูชาด้วยการทำตามพระพุทธประสงค์ พระพุทธองค์ทรงมีพระพุทธประสงค์จะให้เราทำอย่างไรถ้าเราทำอย่างนั้นการกระทำอย่างนั้นเรียกว่า “ปฏิปัติบูชา” เราจึงทราบต่อไปว่าพระพุทธองค์มีพุทธประสงค์จะให้เราทำอย่างไร ข้อนี้ควรระลึกนึกให้กว้างไปถึงข้อที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย การตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นถือกันว่าไม่ใช่เฉพาะพระองค์แต่ผู้เดียว แต่มีความมุ่งหมายที่จะเป็นประโยชน์แก่สัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ดังนั้นจึงมีข้อความกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ทั่วไปว่า พระองค์ได้บำเพ็ญบารมี สี่อสงขัยแสนกัปป์ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าชนิดที่สอนสัตว์ทั้หงลายได้ ถ้าไม่มีความมุ่งหมายที่จะสอนสัตว์ทั้งหลายที่จะโปรดสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็สามารถที่จะเป็นอรหันต์ดับทุกข์สิ้นเชิงได้ตั้งแต่ก่อนหน้าสี่อสงขัยแสนกัปป์ แต่เมื่อพระผู้มรพระภาคเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ในครั้งกระนั้น มีความประสงค์จะโปรดสัตว์ทั้งหลาย จึงได้อดทนอกกลั้นที่จะเวียนว่ายในวัฏสงสาร บำเพ็ญบารมีญานเพื่อเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดเวลาสี่อสงขัยแสนกัปป์ อะไรเป็นเหตุให้ทรงอดทนและทรงเสียสละมากถึงขนาดนี้ คำตอบของเรื่องนี้ก็มีอยู่ว่า พระมหากรุณาคุณที่หวังจะช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ด้วย เมื่อเรามองเห็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงถึงปานนี้แล้ว ก็ควรจะรู้สึกในพระคุณอันใหญ่หลวงนั้นด้วยน้ำจิตที่จะสนองพระคุณ อย่างที่เราเรียกกันว่าขอบพระคุณท่านเหลือที่จะกล่าวได้ เช่นเดียวกับที่พระคุณของท่านมีแก่เราเหลือที่จะกล่าวได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นในวันนี้เราจะต้องมีจิตใจชนิดนั้นจึงจะสมกัน จึงขอร้องให้ท่านทั้งหลายทุกคนทำในใจให้ดี ให้เกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมาให้ได้ เมื่อมีความรู้สึกในพระคุณอันใหญ่หลวงเช่นนี้แล้วก็จะมีความง่ายดายในการปฏิบัติธรรมด้วยความเสียสละ พระองค์ทรงสั่งสอนว่าอย่างไรเราก็จะปฏิบัติตามโดยครบถ้วนโดยทั่วไปก็ทรงสั่งสอนให้เว้นจากการกระทำความชั่ว ให้ทำความดีคือกุศลและทำจิตให้หมดจดจากกิเลสโดยประการทั้งปวง เป็น 3 หัวข้อด้วยกัน แต่ถ้าจะกล่าวให้สั้นกว่านั้น ก็เรียกว่า ทรงสอนให้ปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ด้วยการดับเสียซึ่งกิเลส
บัดนี้เราก็มาพิจารณาว่า เราได้สนองพระพุทธประสงค์นั้นมากหรือน้อยเพียงใด คือเราได้พยายามดับทุกข์หรือดับกิเลสมากน้อยเพียงไร เราได้พยายามตั้งอกตั้งใจที่จะกระทำให้จริงให้จังเพียงไร ลองระลึกนึกดูว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ประสงค์ที่จะได้อะไรจากเรา ไม่ได้มีพระพุทธประสงค์ที่จะรับอะไรตอบแทนจากเรา ไม่ได้คิดค่าจ้าง ค่าสอน ค่าอะไรทุกอย่าง แต่กลับหวังดีต่อเราจนสุดที่พระองค์จะทรงหวังได้ และเมื่อเรามาเหลวไหลโลเลอยู่อย่างนี้ มันจะเป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่สมควรอย่างไร ทุกคนย่อมจะตัดสินหรือวินิจฉัยตัวเองได้ดี ดังนั้นจึงชักชวนให้มาระลึกนึกถึงเป็นอย่างยิ่งในวันเช่นวันนี้ เพื่อจะระงับเสียซึ่งความเหลวไหลโลเลนั้น ตั้งหน้าตั้งตาประพฤติปฏิบัติให้มากให้พอที่จะใช้เป็นเครื่องบูชาคุณของพระองค์ จนได้นามว่าเป็น ปฏิปัติบูชา ระลึกนึกถึงสิ่งที่เราได้ประพฤติกระทำทุกอย่างทุกประการตามคำสั่งสอนของพระองค์มากน้อยเพียงไร นำเอามาประมวลกันในวันนี้ ณ.ที่นี่ และยกขึ้นโดยจิตใจบูชาคุณของพระองค์ ว่าเราได้เสียสละแล้วอย่างไรได้ปฏิบัติแล้วอย่างไร ขอยกขึ้นเป็นเครื่องบูชาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าองค์นั้นในวันเช่นวันนี้ จึงจะเป็นการบูชาที่ได้นามว่า อาสาฬหบูชา ไม่ใช่เพียงแต่บูชาด้วยธูป เทียน และเวียนประทักษิณเพียงเท่านั้น เป็นการกระทำในทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ส่วนทางจิตใจนั้นยังไม่ได้ทำ จะต้องจิตใจให้ถึงขนาดที่ว่า มีความรู้สึกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณ คือเป็นหนี้ในพระเดชพระคุณในพระมหากรุณาธคุณของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมากมายเท่าไร แล้วเราได้ใช้หนี้อันนั้นตอบแทนไปแล้วสักเท่าไรกี่มากน้อย สำหรับคนพาล คนเขลา ย่อมไม่รู้สึกว่าเป็นหนี้ สำหรับคนคดโกงก็ไม่พยายามที่จะใช้หนี้ ผู้ที่รู้สึกอยู้แท้ๆ ก็ยังใช้หนี้น้อยเกินไป คือการปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นน้อยเกินไป ยังน้อยเกินไป ยังไม่สมกับความที่พระองค์มีความรัก มีความเอ็นดูในพวกเราทั้งหลาย แม้อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่ไม่ซื่อตรง ไม่ตั้งใจที่จะใช้หนี้ให้สุดความสามารถของตน ถ้าเป็นดังนี้แล้วก็ขอให้ทำในใจเสียใหม่ที่นี่เวลานี้ เพราะความเป็นลูกหนี้ที่ไม่ซื่อตรงนี้ใช้ไม่ได้ จะทำแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเป็นบุคคลสูงสุดเช่นนั้นไม่ได้จะเกิดโทษเกิดขึ้นตามแก่ตัวบุคคลนั้นเอง เราจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อตรงอย่างยิ่ง ซื่อตรงหมดทั้งชีวิตจิตใจต่อพระองค์ ผู้มีพระคุณมีพระมหากรุณาธิคุณอยู่เหนือศรีษะของเราเหนือชีวิตของเรา แล้วพยายามที่จะใช้หนี้ได้แม้ชีวิตของเรา ให้เสียสละทุกอย่างทุกประการที่จะทำตามพระพุทธประสงค์นั้น ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าให้ตัวเราทำแก่ตัวเราเอง เพื่อจะดับทุกข์สิ้นเชิงให้แก่ตัวเราเอง พระองค์ไม่ได้เรียกร้องหรือคิดค่าป่วยการ หรือคิดค่าอะไรตอบแทนแม้แต่ประการใด สิ่งใดที่ทำได้เป็นของเราทั้งหมด พระองค์มีหน้าที่ที่จะหวังให้เราพ้นจากทุกข์ ช่วยเหลือสั่งสอนเราให้พ้นจากทุกข์ ให้เราได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้ ไม่เสียชาติที่เกิดมา จึงนับว่าเป็นผู้ที่มีอะไรๆ ทุกอย่างเหนือเรา ที่เราจะต้องรับรู้รับทราบไว้ และสนองพระคุณของพระองค์ให้สมควรแก่กัน นี่เป็นข้อต้นที่ตักเตือนกันในวันนี้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับธรรมอาสาฬหบูชา
ทีนี้ข้อความต่อไปก็มีอยู่ว่า เพื่อเราจะมีความเข้าใจในวันนี้ยิ่งขึ้น เข้าใจเหตุการณ์วันนี้ยิ่งขึ้น และเข้าใจการงานของพระองค์ในวันนี้หรือที่เกี่ยวข้องกับวันนี้ยิ่งขึ้น เรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับ ธรรมจักรกัปวัตนสูตรนั้นบ้างตามสมควร และโดยเฉพาะที่เป็นใจความ เรื่องเล่าว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วก็มีความระลึกนึกถึงไปในทางที่ว่า การตรัสรู้นี่เป็นสิ่งสูงสุด สิ่งที่ตรัสรู้ก็ลึกซึ้งถึงที่สุด ละเอียดเกินที่ สุขุมถึงที่สุดจนแทบที่จะไม่มีประโยชน์แก่ใคร คือไม่มีใครที่จะรับเอาได้ จึงได้ทรงท้อพระทัยในการที่จะแสดงธรรม มีพระทัยน้อมไปในทางที่จะไม่แสดงธรรม สำหรับข้อนี้ท่านทั้งหลายจงคิดดูว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าเองท่านก็ยังรู้สึกว่า ธรรมมะที่เป็นเนื้อแท้ที่ได้ตรัสรู้นั้นลึก ประณีต สุขุม ละเอียดจนไม่มีใครอาจจะเข้าใจ จนทรงคิดไปในทางที่จะไม่แสดง ทีนี้สำหรับพวกเราเล่านึกกันว่าอย่างไร นึกกันว่าเป็นของยากหรือง่ายอย่างไร บางคนก็นึกไปในทางที่ประมาทอวดดี บางคนก็นึกไปในทางขี้ขลาด ท้อแท้ ท้อถอย ไม่พอเหมาะพอดี บางคนก็พลัดวันประกันพรุ่ง อาศัยความโลเลของตน ตั้งใจที่จะประพฤติธรรมมะนั้นเท่าที่สะดวกไม่รับผิดชอบแก่ตนเอง ที่จะประพฤติธรรมมะให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ เป็นอย่างนี้เสียโดยมาก แม้ว่าธรรมนั้นลึก เราก็ควรจะตั้งใจ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าได้ทรงรำลึกต่อไป คือพระองค์ได้ทรงรำลึกทบทวนต่อไปๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกมาจากพระมหากรุณาซึ่งได้อบรมสั่งสมมามากแต่กาลก่อน ว่าแม้ธรรมมะนี้จะเป็นของยากสักเท่าไร สำหรับสัตว์บางคนที่มีทุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยที่สามารถเข้าใจธรรมมะนี้ก็ยังมีอยู่ คือพระองค์ทรงรำลึกในข้อที่ว่า สัตว์ที่มีทุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยนั้นก็มีอยู่พอจะเข้าใจธรรมมะนี้ได้ ถ้าเราไม่แสดงธรรมความเสียหายอันใหญ่หลวงจะเกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านี้ นี่ก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณอีกครั้งหนึ่งที่ทรงระลึกไปในทางว่า แม้จะทรงลำบาก หากจะทรงลำบากเหนื่อยยาก ลำบากอย่างไรในการที่จะสอนสัตว์บางคนที่มีทุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยให้เข้าใจได้นี้ก็จะอดทน และเสียสละเพื่อจะไปสอนคนเหล่านั้นให้ได้ ดังนั้นพระพุทธดำริจึงได้เปลี่ยนไปในทางที่จะสั่งสอน ต่อไปพระองค์ก็ระลึกสำนึกต่อไปว่าจะสอนใครก่อน ก็นึกถึงผู้ที่เคยสอนท่าน คือ อาฬารดาบส และ อุทกดาบส ตอนนี้เป็นเรื่องของความกตัญญูกตเวที ขอให้พวกเราจดจำไว้ว่า แม้เป็นพระอรหันต์แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็ทรงยอมรับระเบียบปฏิบัติที่เรียกกันว่า ความกตัญญูกตเวที ไม่ใช่ว่าเป็นพระอรหันต์พ้นจากการยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะอยู่เหนือระเบียบหรือความรู้สึกที่เป็นไปตามระเบียบตามประเพณีดังนี้ก็หาไม่ พระองค์จึงได้ระลึกนึกถึงผู้ที่เคยสั่งสอนพระองค์และคิดจะตอบแทนแก่ผู้นั้นก่อน แต่ในที่สุดก็ได้ทราบว่าคนทั้ง 2 นี้ อาจารย์ทั้ง 2 นี้ได้ถึงแก่กรรมไปเสียก่อนแล้ว องค์แรกก็ถึงแก่กรรมไปเสีย 7 วันแล้ว องค์หลังก็ถึงแก่กรรมไปเสียเมื่อวานนี้แล้ว เป็นอันว่าไม่สามารถที่จะสั่งสอนผู้ที่เคยเป็นอาจารย์ในกาลก่อนทั้งสององค์นั้นได้ จึงได้นึกต่อไปถึงว่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 นั้นได้เคยอุปการะต่อตถาคตเป็นอันมากในสมัยหนึ่ง ดังนั้นควรจะไปแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์นี้ แม้ข้อนี้ก็เกี่ยวกับความกตัญญูกตเวทีเพราะว่าในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรการะทำทุกขกริยาอยู่ประมาณเกือบ 6 ปีนั้น ได้อาศัยการอุปถากของปัญจวัคคีย์เหล่านี้คอยติดสอยห้อยตาม คอยปรนนิบัติพระองค์ตลอดเวลาทั้งหมดนั้น ดังนั้นจึงได้ระลึกนึกถึงปัญจวัคคีย์นั้นด้วยความขอบคุณ พระองค์จึงได้ทรงตั้งพระทัยที่จะไปโปรดปัญจวัคคีย์ ในที่สุดก็ได้ทรงดำเนินไปด้วยพระบาท ไม่มียานพาหนะ เช่น รถหรือเรือ เป็นหนทางไกลไปจนถึง ในระหว่างทางที่พระพุทธองค์เสด็จไปก็พบกับนักบวชในศาสนาอื่นรูปหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า อุปกะ ได้สนทนากัน ข้อความที่สนทนากันก็คือหัวข้อ ลิเขตะบท ที่ได้ยกมากล่าวไว้ข้างต้นสำหรับแสดงธรรมในวันนี้ว่า สัพพาพิปู สัพพะวิทู หะมัตตะมิ เป็นต้นนั้นเอง.....(26.21) นักบวชชื่ออุปกะได้เห็นพระพุทธองค์เสด็จดำเนินสวนทางมา ได้เห็นรูปโฉมของพระองค์อยู่ในลักษณะน่าสนใจ น่าเลื่อมใสมีอะไรผิดธรรมดา จึงได้ขอโอกาสสนทนาไต่ถามด้วย ด้วยบทว่า วิสัชนานิโขเตอาหุโสอินทรียานิ (26.57) ซึ่งมีใจความว่า ดูก่อนเพื่อน อินทรีย์ทั้งหลายของท่านผ่องใสนัก ผิวพรรณแห่งท่านบริสุทธิ์ผ่องใสนัก ท่านได้บรรพชาแล้วกับผู้ใด ผู้ใดเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมมะของผู้ใดแล้วประพฤติอยู่ นี่ขอให้ลองพิจารณาดูถ้อยคำเหล่านี้ ว่าผู้ที่มีความสนใจในพระพุทธเจ้าคนแรกนี้ ก็เพราะได้เห็นพระรูปโฉมที่ผ่องใสไม่มีความทุกข์ จึงเกิดความรู้สึกที่จะทราบว่าเพราะอาศัยธรรมมะอะไร จึงได้ถามว่า บรรพชากับใคร ใครเป็นศาสดา ชอบใจธรรมของผู้ใด นี้เป็นธรรมเนียมในครั้งพุทธกาล ที่เขาเรียกระเบียบปฏิบัตินั่นว่า “ธรรม” ที่ถามว่าชอบใจธรรมของผู้ใดก็หมายความว่า ชอบใจคำสั่งสอนหรือศาสนาของผู้ใดนั่นเอง มีผู้ใดเป็นพระศาสดาสั่งสอนให้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบโดยหัวข้อ ลิเขตะบท ข้างต้นที่ว่า สัพพาพิปู สัพพะวิทูหะมัตตะมิ เราเป็นผู้ครอบงำแล้วซึ่งธรรมทั้งปวง เราเป็นผู้รู้แจ้งแล้วซึ่งธรรมทั้งปวง สัพพันจะโฮตันหัตตะเยวิมุตโต เราเป็นผู้ละเสียแล้วซึ่งธรรมทั้งปวง เราเป็นผู้ทำตัณหาให้สิ้นแล้ว พ้นพิเศษแล้ว น้อมไปในธรรมที่เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหานั้น สยังอพินยา ยะกะมุตถิตะยะ เมื่อเราเป็นผู้รู้สึกอยู่ด้วยตนเอง ให้รู้พร้อมเฉพาะด้วยปัญญาอันยิ่งของตนเอง แล้วพึงจะกล่าวว่า บวชอุทิศใครหรือชอบในธรรมของผู้ใด นะเมอาจาริโยอัตถิ อาจารย์ของเราในธรรมนี้ไม่ได้มี สถิโสเมนะวิจะติ ผู้ที่ได้รูธรรมนี้ และละเสียแล้วอันธรรมทั้งหมดนี้ก็มิได้มี สะเทวะกัสมิงโลกัสมิง นัตถิเม อะปัตติปุคโล ในโลกนี้ก็ดีในเทวโลกก็ดี บุคคลที่เหมือนกับเรามิได้มี อะหันหิอรหาโลเก เราเป็นผู้พ้นจากกรรมทั้งปวงแล้วในโลกนี้ อะระหังศรัทธาอนุตโร เราเองเป็นศาสดาอันไม่มีผู้ใดเกินกว่า เอโกหิสัมมาสัมพุทธโธ เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะแล้วด้วยตนเอง สีตีพูตด สะมินิพุทธโต เราเป็นผู้เย็นสนิทแล้วดับสนิทแล้ว ธรรมจักรกัง ปวัตเตตุง คะฉามิ กาสินังปุรัง เรากำลังจะไปสู่นครกาสี เพื่อยังธรรมจักรให้เป็นไป อันตพูกัสมิง โลกัสมิง อะหันยิงอะมะตันตุพิง เมื่อสัตว์โลกกำลังหนวก กำลังบอดอยู่ เราจะตีกลองอมตะปลุกสัตว์เหล่านั้นจากความหายหนวกหายบอดดังนี้ นี่คือเป็นถ้อยคำที่พระองคืได้ตรัสในวันนั้นและเกี่ยวเนื่องกับอาสาฬหบูชา สิ่งที่เราต้องนึกถึงเป็นลำดับไปคือข้อที่ว่า พระองค์เป็นสัพพาพิปู เป็นผู้ครอบงำแล้วซึ่งสิ่งทั้งปวงจำเป็นต้องใช้คำว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีคำอื่นเหมาะกว่า สิ่งทั้งปวงในที่นี้หมายถึงสิ่งของก็ได้ มีชีวิตวิญญานหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นจึงหมายความถึงทุกสิ่งที่เป็นอารมณ์ จะเป็น รูป เสียง กลิ่น รส หัถผะ ธรรมารมณ์อะไรก็ตามที่จะเป็นอย่างมนุษย์ธรรมดา หรือเป็นอย่างของทิพย์ในสวรรค์ หรือเป็นชั้นพรหมโลกที่เรียกว่าเป็นของบริสุทธิ์ก็ตามนี่เรียกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง สัพพาพิปู เป็นผู้ครอบงำสิ่งทั้งปวงหมายความว่า สิ่งทั้งหลายทั้งหมดนั้นไม่อาจแตะต้องพระองค์ ไม่อาจจะเย้ายวนพระองค์ ไม่อาจจะยุแหย่พระองค์ ไม่อาจมีอิทธิพลใดๆ เหนือพระองค์ ไม่อาจจะทำให้พระองค์ทรงเกี่ยวข้องผูกพันธ์ ยึดถือได้ ดังนั้นจึงเรียกว่า สัพพาพิปู สัพพะ แปลว่าทั้งปวง อพิพู แปลว่าครอบงำ สัพพะวิทู แปลว่าผู้ครอบงำสิ่งทั้งปวง มีความหมายอย่างนี้ สัพพะวิทู แปลว่าผู้รู้สิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงเป็นผู้รู้แจ้งในสิ่งทั้งปวงว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตา โดยสรุปอย่างยิ่งก็ว่าเป็นสุญญตา คือประกอบไปด้วยความว่างจากตัวตนไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ถ้ารู้อย่างนี้ในสิ่งทั้งปวงก็เรียกว่ารู้จักสิ่งทั้งปวง เพราะรู้ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างนี้จึงได้อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง อันสิ่งทั้งปวงครอบงำไม่ได้ด้วยเหตุนี้เอง เราจงรู้จักพระพุทธเจ้าในลักษณะพิเศษอย่างนี้ก่อนเนื่องในโอกาสเช่นวันนี้อันเป็นธรรมที่พระองค์ทรงตรัสเองว่า สัพพาพิปู สัพพะวิทู เป็นต้น
และบทถัดไปว่า สัพเพสุ ธรรเมสุ อันณูปะลิตโต(35.10) เป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้ว อันณูปะลิตโตแปลว่า ไม่เข้าไปฉาบทาหรือฉายร้าย สัพเพสุ ธรรเมสุ ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไม่เข้าไปฉาบทาหรือฉายร้ายในสิ่งทั้งปวงเหล่านั้น ฟังยากในภาษาบาลีชนิดนี้ พูดเป็นภาษาไทยก็ว่า ไม่มีตัณหาซึ่งเป็นกิเลสมียางใยเหนียว เป็นเยื่อยางเหนียวสำหรับฉาบร้ายให้ติดกัน เหมือนบุคคลที่ใช้ปูนที่เหนียวฉาบร้ายอิฐให้ติดกันเป็นผนึก ให้ปูนนั้นเรียกว่าเครื่องฉาบร้าย ส่วนจิตใจสัตว์นั้นก็มีเครื่องฉาบร้ายที่เรียกว่า ยางใยของตัณหาหรือความอยาก ถ้ายางใยของตัณหาหรือความอยากมีอยู่แล้วก็หมายความว่าเราจะต้องถูกฉาบร้ายให้ติดอยู่กับอารมณ์ในโลก คือ รูป เสียง กลิ่น รส หัถผะ ธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่งในโลกมนุษย์ ในเทวโลก ในมารโลก ในพรหมโลก คือในระดับไหนก็ตามตั้งแต่ต่ำที่สุดจนถึงสูงที่สุด เดี๋ยวนี้ความที่ไม่มีเครื่องฉาบร้ายชนิดนั้นจึงเรียกว่า สัพพะ สัพเพสุ ธรรเมสุ อันณูปะลิตโต เราเป็นผู้ไม่มีเครื่องฉาบร้าย ไม่ถูกฉาบร้ายในธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น
บทต่อไปว่า สัพพันชะโห เป็นผู้ละแล้วซึ่งสิ่งทั้งปวง ข้อนี้จะเข้าใจได้เนื่องมาจากข้อที่แล้วๆ มาว่า เมื่อเป็นผู้ครอบงำสิ่งทั้งปวง รู้แจ้งสิ่งทั้งปวงไม่ฉาบร้ายในสิ่งทั้งปวงแล้วมันเท่ากับละสิ่งทั้งปวงไป จึงเรียกว่า สัพพันชะโห ตัณหะคะเย วิมุตโต ดังนั้นจึงเป็นผู้พ้น พิเศษแล้วในธรรม เป็นเครื่องสิ้นไปแห่งตัณหาคือยางใยนั้น วิมุตโต แปลว่า ผู้พ้นพิเศษแล้ว คำว่าพ้นในที่นี้หมายความว่า เป็นผู้มีจิตใจเหนือสิ่งเหล่านั้นจนสิ่งเหล่านั้นฉาบร้ายไม่ได้ จึงเรียกว่าพ้นพิเศษแล้วในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ตัณหะคะเย ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหานี้หมายถึง นิพพาน เรียกอีกอย่างหนึ่งก้เรียกว่า นิพพาน เป็นธรรมเป็นเครื่องสิ้นไปแห่งตัณหา พระองค์เป็นผู้พ้นพิเศษแล้วในธรรม เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา สยังอพินยายะ กมุตถิสะยัง เมื่อเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะด้วยตน พ้นแล้วด้วยตนโดยประการทั้งปวงอย่างนี้แล้ว จะควรกล่าวว่าอุทิศบุคคลใดเป็นศาสดาเล่า ข้อนี้บางคนอาจจะคิดไปว่า พระพุทธเจ้าตรัสเข้าข้างตัวเพราะว่าแต่ก่อนนี้ก็เคยเป็นลูกศิษย์ของคนนั้นคนนี้มามากมาย กระทั่งประพฤติวัตรในสำนักแห่งนิกรนก็เคย นี้เรียกว่ามีอาจารย์ เคยเป็นศิษย์และมีอาจารย์ เดี๋ยวนี้มากล่าวว่า ไม่มีที่ระบุผู้ใดว่าเป็นอาจารย์เพราะเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะแล้วด้วยตนเอง คำกล่าวนี้ไม่ได้กินความหมายไปถึงความรู้อื่นๆ กินความหมายเฉพาะธรรมะที่ได้ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองที่เป็นเครื่องดับทุกข์โดยประการทั้งปวงที่เรียกว่า อริยะสัจ 4 ที่เป็นใจความสำคัญของธรรมจักรกัปปะวัฒนสูตร ที่พระองค์ตรัสรู้และกำลังทรงดำเนินไปเพื่อประกาศสิ่งนี้ เมื่อกล่าวในธรรมะที่เป็นตัวพุทธศาสนาเช่นนี้ก็ต้องกล่าวว่า ไม่มีผู้ใดเป็นศาสดาของพระองค์เพราะว่าพระองค์ทรงขวนขวายมาด้วยตนเองจนได้ตรัสรู้ธรรมะเหล่านี้ ดังนั้นพระองค์จึงตรัสว่า นะเมอาจาริโยอัตถิ ผู้หนึ่งผู้ใดที่จะเป็นอาจารย์ของเราก็มิได้มี สะถิโสเมนะวิตจะติ ผู้ที่เหมือนกับเราก็มิได้มี สเทวะกัสมิง โลกัสมิง นัตถิเมปฏิปุคโล ผู้ที่จะเป็นคู่ปรับกับตัวเราก็มิได้มีทั้งในโลกนี้และเทวโลก ที่อธิบายว่า ผู้ซึ่งจะมีอะไรเหมือนพระองค์ทางความรู้ ในการปฏิบัติ ในทางหมดจากกิเลส ในทางที่จะช่วเหลือสัตว์โลกให้หลุดพ้นตามด้วยนั้นไม่มีใครเหมือนพระองค์ มิได้หมายความว่าจะไม่มีใครเลยที่จะรู้ธรรมะหรือหมดกิเลส หรือสอนผู้อื่นได้ แต่ว่ามันไม่ใช่ระดับเดียวกัน ไม่ใช่ลักษณะเดียวกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กล่าวนั้นด้วยแล้วก็ยิ่งกล่าวได้เต็มปากว่าไม่มีใครเหมือนเว้นแต่จะย้อนกล่าวไปในทางอดีตเบื้องหลังว่า ถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากาลก่อนโน้นนั่นหละจึงจะเหมือนกัน แต่บัดนี้ระบุกาลเวลาเฉพาะกำลังกล่าวนี้แล้ว ยังไม่มีบุคคลใดที่เหมือนหรือที่จะได้เป็นคู่ปรับกัน จึงได้ตอบอุปกะอาชีวก ในวันนั้นลักษณะอย่างนั้น อะหันหิอะระหาโลเก เราเป็นพระอรหันต์ในโลก อะระหังศรัทธา อนุตตโล เราเป็นศาสดาเราเป็นพระอรหันต์ชนิดที่เป็นศาสดาไม่มีผู้ใดยิ่งไปกว่า เอโกหิสัมมาสัมพุทโธ เราผู้เดียวเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ นี่เป็นคำแปลตามตัวหนังสือตามภาษาบาลี ฟังดูในภาษาไทยแล้วคล้ายๆกับว่าเป็นคำที่กล่าวด้วยมานะทิฐิ หรือมีกิเลส เราจะต้องเข้าใจว่าบุคคลผู้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสัมมาสัมพุทธนั้นบางทีก็กล่าวคำชนิดที่เหมือนคำที่เรากล่าวๆ กัน แต่แม้ว่าคำพูดเหมือนกัน ความรู้สึกหรืความหมายในจิตใจนั้นไม่เหมือนกัน แม้คำว่าเราๆ นั้นก็มิได้เป็นเราชนิดที่ประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น แม้การที่ประกาศตนเป็นพระอรหันต์เป็นพระศาสดา เป็นพระสัมมาสัมพุทธอย่างนี้ ก็มิได้เป็นการยกตัวเองแต่เป็นการกล่าวประกาศ ชนิดเป็นการปฏิญญายืนยันตัวเอง ยืนยันสถานะของตัวเอง คือ พร้อมที่จะแสดง พร้อมที่จะพิสูจน์ พร้อมที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างให่สิ่งนี้ปรากฏออกมา ดังนั้นจึงได้กล่าวไปในลักษณะเช่นนั้น ซึ่งสำหรับคนธรรมดาแล้วฟังดูรู้สึกว่าเป็นคำกล่าวด้วยกิเลสนี่ก็ตอนหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี
คำถัดไปที่ว่า สีติพุดตด สะมินิพพุตโต แปลว่าเราเป็นผู้เย็นสนิท เป็นผู้ดับสนิท ที่หมายความว่า ของร้อนคือกิเลสนั้นมิได้มีในขัณฑสันดานอีกต่อไป จึงเรียกว่าเป็นผู้เย็นสนิท มีจิตใจมีสันดานชนิดที่ไม่อาจปรุงแต่งให้เป็นกิเลสได้อีกต่อไป จึงไม่มีความร้อนเกิดขึ้นได้ในขัณฑสันดานนั้น ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เป็นผู้เย็นสนิท เป็นผู้ดับสนิท คำว่า นิพพุตโต ก็คือคำว่านิพพาน แปลว่าเย็นสนิท ร้อนนั้นถ้าเป็นทางวัตถุก็เพราะร้อนสิ่งด้วยมีความความร้อน เช่นไฟ เป็นต้น ดังนั้นทางจิตใจก็ร้อนเพราะเกิดกิเลสขึ้นในใจเป็นของร้อน ของร้อนมีอยู่ 2 ประเภทคือทางวัตถุและทางจิตใจอย่างนี้ ให้เข้าใจไว้ให้ดีๆ สำหรับคำพูดในโลกนี้ทุกคำย่อมมีความหมายเป็น 2 ประเภทเสมอ คือทางวัตถุกับทางจิตใจ เช่น อย่างความร้อนนี้ทางวัตถุก็ร้อนด้วยไฟ ถ้าเป็นทางจิตใจก็ร้อนด้วยกิเลสทุกคำมีความหมายเป็น 2 ประเภท ให้พยายามศึกษาไว้จะได้เข้าใจธรรมะได้ง่ายขึ้น และในที่สุดพระองค์ก็ตรัสว่ากำลังจะไปแคว้านกาสี เพื่อประกาศธรรมจักร และขยายความข้อนั้นออกไปว่า ในขณะที่โลกนี้กำลังเป็นคนหนวก คนบอดอยู่ พระองค์จะทรงบันลือกลองอมตะเพื่อปลุกคนเหล่านั้นให้ตื่นจากความหนวกและความบอด อมตันทุพิ แปลว่ากลองอมตะ แปลว่าจะตีกลองนั้นเพื่อปลุกคนให้ตื่น นี่เป็นสำนวนที่เรียกว่า ปุคคลาธิษฐาน คือเป็นคำอุปมา เราอย่าได้เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าจะได้ตีกลองเหมือนที่เรา ตีกันอยู่เป็นสัญญานอะไรทำนองนั้น แต่ที่เรียกว่ากลองในที่นี้ก็ความหมายว่า การประกาศธรรมะนั้นออกไปเหมือนกับการตีกลอง และธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีการตั้งต้นและที่สุดเป็นของที่จะบรรลืออยู่เสมอไม่มีการสิ้นสุดและเสียงกลองคือข้อความที่ประกาศไปนั้น เป็นการบอกให้สัตว์ทั้งหลายรู้จักสิ่งที่เป็นอมตะคือไม่ตาย หมายความว่า ถ้าเราประพฤติปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าจริงแล้ว เราจะบรรลุธรรมะในขั้นที่ไม่มีความตาย คือถึงขั้นที่ทำให้เรารู้สึกว่ามิได้มีตัวตนอยู่ มีแต่ธรรมชาติล้วนๆ ซึ่งว่างจากตัวเราจึงไม่มีอะไรตาย และพร้อมกันนั้นก็ไม่มีอะไรเกิด อะไรแก่ อะไรเจ็บ ไม่มีอะไรได้อะไรเสีย จึงไม่มีความทุกข์ และเรียกว่าไม่ตาย ไม่มีผู้ที่จะตาย ถ้าใครได้ยินเสียงนี้ก็เหมือนกับได้ยินเสียงกลองที่เรียกว่า อมตะทุพิ คือกลองอมตะ พระองค์เสด็จไปเพื่อจะประกาศธรรมจักรแก่ปัญจวัคคีย์ แต่พระองค์ตรัสว่ากำลังจะไปตีกลองอมตะ เพื่อปลุกสัตว์ที่กำลังหลับอยู่ให้ตื่น สัตว์ที่หลับอยู่ด้วยกิเลสนั้นเปรียบด้วย คนหนวก คนบอด คนใบ้ คนต่างๆ สารพัดอย่างที่จะเรียกสำหรับผู้ที่ไม่รู้สิ่งทั้งปวง จนประพฤติกระทำผิดในสิ่งทั้งปวงจนตัวเองได้รับความทนทุกข์ทรมารอยู่เป็นประจำนี้เรียกว่า เมื่อสัตว์ทั้งหลายกำลังหลับอยู่ด้วยความหนวก ความบอด กล่าวคือ อวิชชา ทำให้ไม่รู้มีผลทำให้เหมือนคนตาบอด หูหนวก เป็นใบ้หรือทุกอย่างที่เป็นความพิการ พระองค์จะทรงบรรลือกลองอมตะทุพิ ทำให้คนหมดอวิชชากลายเป็นคนไม่หนวก ไม่บอด ไม่ใบ้ และจะทรงกระทำที่แคว้นกาสี มีปัญจวัคคีย์เป็นผู้รับเป็นพวกแรก ขอให้เรานึกดูว่า พระพุทธองค์ได้ตรัสถ้อยคำเหล่านี้แก่คนๆ หนึ่งคือนักบวชอุทกกะนั้น ในขระที่เดินสวนทางกันแต่ผลที่สุดก็ยังไม่สำเร็จผลประโยชน์อะไรมากมายนัก อุทกกะอาชีวกผู้นั้นได้แต่กล่าวว่า ตามที่ท่านกล่าวนั้นเป็นไปได้ นี่หมายความว่า อาชีวกผู้นั้นไม่ยอมเชื่อว่าพระพุทธองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการตั้งใจที่จะไปทำอะไรอย่างนั้นก็ไม่เชื่อสนิทว่าจะเป็นไปได้ ดังนั้นเขาจึงตอบว่า มันก็อาจจะเป็นไปได้เท่านั้นเองอย่างสุภาพที่สุดแล้วก็หลีกทางกันไป ข้อนี้ขอให้เราทั้งหลายนึกดูว่าคนที่เดินสวนทางกับพระพุทธเจ้าแล้วก็ยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้ายังได้ตอบกันในลักษณะเช่นนี้ และหลังจากการโต้ตอบแล้วก็ยังได้แต่พยักหน้าว่า มันอาจจะเป็นไปได้และสวนทางไป และเขาก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากที่ได้พบกับพระพุทธเจ้า ข้อนี้ถ้านึกดูให้ดีแล้วเป็นที่น่าสลดสังเวชด้วย และเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทด้วย เราทั้งหลายอย่าได้ประมาทว่าเราจะเข้าใจพระพุทธเจ้าได้ง่ายๆ แม้ว่าจะเดินสวนทางกันก็อาจจะไม่รู้จักก็ได้ หรือในทางตรงกันข้ามอาจจะไปสำคัญบุคคลที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าว่าเป็นพระพุทธเจ้าไปก็ได้ดังตัวอย่างนี้ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการประกาศธรรมจักรจึงได้นำมาวิสัชชนาในวันนี้ เพื่อความเข้าใจแก่ท่านทั้งหลายตามกาล ตามคราว ตามโอกาส ที่จะพึงกระทำได้ เพื่อให้เราเกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า พระพุทธเจ้านั้นเป็นบุคคลเช่นไร มีอะไรๆเป็นอย่างไร ที่เกี่ยวเนื่องกับคนทั้งหลาย คนบางคนแม้เกิดในครั้งพุทธกาลได้พบกับพระพุทธเจ้า ได้เห็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากพระพุทธเจ้าเลย บางคนก็ได้รับ บางคนก็ได้รับมากที่สุด ที่นี้พวกที่ไม่เคยพบกับพระพุทธเจ้าส่วนมากก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย แต่ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทีนี้พวกเราในสมัยนี้ปัจจุบันนี้ซึ่งห่างไกลกันเป็นระยะกาลถึงสองพัน ห้าร้อยปี ก็ควรจะนึกดูว่ากำลังอยู่ในสถานะเช่นไร ใครบ้างได้รับประโยชน์จากพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงใครบ้างได้รับประโยชน์แต่สักว่าประเพณี พิธีรีตรอง หรือเพียงแต่สักว่าจดทะเบียนเป็นพุทธบริษัท หรือใครว่าได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงเข้าองคืพระพุทธเจ้าได้เหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ โดยที่เอาธรรมะเป็นหลัก สิ่งที่เรียกว่าธรรมะคือภาวะทางจิตใจที่จะเกิดขึ้นเป็นความรู้สึก ให้รู้สึกได้ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร ความไม่มีทุกข์เป็นอย่างไร สำหรับความไม่มีทุกข์นั้นคือความที่ภาวะจิตใจมีความสะอาด สว่าง สงบ สิ่งนี้รู้จักได้แต่ด้วยใจ ไม่อาจรู้จักได้ด้วยคำพูดหรือบอกกล่าวกัน บุคคลจะต้องเกิดภาวะ สะอาด สว่าง สงบขึ้นในจิตใจเสียก่อน จึงจะได้รู้จักสิ่งนั้นว่าเป็นอย่างไร เมื่อรู้จักสิ่งนั้นแล้วก็คือรู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ เมื่อรู้จักธรรมะชนิดนี้โดยตรงแล้วก็เรียกว่ารู้จักพระพุทธเจ้า คือรู้ว่าในหัวใจของพระพุทธเจ้านั้นมีภาวะเช่นนี้ และภาวะเช่นนี้ที่ทำให้บุคคลนั้นให้ได้นามว่า พระพุทธเจ้า ถ้ามีภาวะแห่งความบริสุทธิ์ สะอาดถึงที่สุด มีภาวะแห่งความรู้แจ่มแจ้ง สว่างไสวถึงที่สุด และมีภาวะแห่งความเยือกเย็นเป็นสุขสงบสิ้นแห่งทุกข์ สิ้นความร้อนโดยประการทั้งปวงอยู่ในใจของท่าน ท่านจึงได้นามว่าเป็นพุทธะ ถ้าท่านทำได้โดยตัวของท่านเอง รู้เอง ปฏิบัติเอง ก็เรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ และสามารถสอนผู้อื่นได้ด้วย เดี๋ยวนี้เรารู้จักพระพุทธเจ้าโดยธรรม คือโดยพระองค์จริง โดยแท้จริงนี้กันอย่างไร มากน้อยเท่าไร ก็ขอให้นึกดูเป็นพิเศษในวันเช่นวันนี้ทุกๆ ปีไปจนกว่าจะถึงที่สุดเพราะว่าในวันนี้เรากำลังจะทำพิธีอาสาฬหบูชา เป็นปฏิปัติบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราไม่รู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริงแล้ว เราจะทำอะไรเพื่อบูชาท่านได้อย่างไร เหมือนกับเราจะเอาของอะไรสักอย่างหนึ่งไปให้กับใครสักคนหนึ่งแต่แล้วเราก็ไม่ร้จักคนนั้นว่าอยู่ที่ไหน คือใคร แล้วเราจะเอาไปให้ได้อย่างไร เดี๋ยวนี้ก็คิดดูให้ดีเถิดว่า ดอกไม้ธูปเทียนที่จุดอยู่นี่บูชาใคร อยู่ที่ไหน ถ้าไม่รู้จักพระพุทธเจ้าองค์จริงที่แท้จริงแล้วมันก็เป็นหมันเหมือนกับตบมือข้างเดียว เหมือนกับที่เราจะเอาของไปให้กับใครแล้วก็ไม่รู้จักว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเราจะนึกๆ โมเมเอาเองว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน มันก็เป็นพระพุทธเจ้าในความโมเม ไม่ใช่พระพุทธเจ้าองค์จริง ชนิดที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรมะผู้นั้นเห็นตถาคต ก็แปลว่าดอกไม้ ธูปเทียนนี้บูชาไม่ถูกองค์พระพุทธเจ้าที่แท้จริง ถูกแต่เปลือกข้างนอก ยังไกลกันอยู่มาก ควรจะสลดสังเวชให้มากในข้อนี้ ที่นี้ที่สูงขึ้นไป เราควรปฏิปัติบูชาหลายอย่างหลายประการ ที่กำลังจะกระทำอยู่แล้วเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิบูชานั้น แล้วก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน อย่างไร ก็ได้แต่
เหมาๆเอาเองเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดแล้วในโอกาสเช่นนี้ เวลานี้ ควรจะทำใจที่เป็นการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการ อาตมาจะรวบรัดตัดสั้นที่สุดเท่าที่ท่านทั้งหลายจะพึงกระทำได้ คือขอให้มีความรู้สึกนึกคิดว่า ในขณะนี้เราทุกคนเหมือนกับคนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีบุตร ภรรยา สามี ไม่มีทรัพย์สมบัติ เงิน ทองข้าวของที่ไหน ไม่มีสิ่งที่จะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา ให้มีจิตใจในลักษณะเช่นนี้เวลานี้ ก็จะเกิดภาวะแห่งความสะอาด และความสงบขึ้นมาในใจรู้สึกได้ด้วยจิตใจของเรา ว่านั้นแหละคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่แท้จริงได้ปรากฏแก่เราแล้ว เราจะบูชาทั้งอมิตบูชา และปฏิปัติบูชา แด่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ในลักษณะเช่นนั้นเถิด ในขณะที่เราบูชาด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หรือว่าเราจะลุกขึ้นเวียนประทักษิณ ก็ขอให้ทุกคนทำในใจอย่างนี้ ให้เป็นคนที่ไม่มีอะไร ที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นและความว่าง เป็นความสะอาด สงบอยู่ในใจ แล้วบูชาและทำประทักษิณ การกระทำนั้นก็จะเป็นปฏิปัติบูชาที่ถูกตรงต่อพระพุทธเจ้า ที่เป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระองค์จริงพร้อมกัน และในที่สุดการทำอาสาฬหบูชาของเรานี้ก็จะมีความหมาย ด้วยเหตุนี้เองอาตมาจึงได้กล่าวโดยยืดยาว เพื่อชักจูงจิตใจของท่านทั้งหลายเพื่อให้ท่านทั้งหลายทำในใจโดยแยบคายในโอกาสนี้ โดยเฉพาะเวลานี้เมื่อจะทำอาสาฬหบูชาให้เป็นประโยชน์ให้ถึงองค์พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงดังที่กล่าวแล้ว มีจิตน้อมระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ในใจอย่างแจ่มแจ้ง และทำความเคารพหรือการบูชาออกไปในขณะนั้นเพื่อเล็งถึงคุณธรรมอันนั้นซึ่งมีอยู่ได้ในที่ทุกหนทุกแห่งและบัดนี้ปรากฏอยู่แก่ใจเรา เป็นอันเดียวกันกับที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง จนเรากล่าวได้ว่าพระรัตนตรัยนี้มีอยู่ได้ในที่ทุกหนทุกแห่ง เราสามารถรู้สึกได้เข้าถึงได้ ด้วยการกระทำอย่างนี้ ถ้าเราบูชาอุทิศ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นโดยตรง คือทั้งหมดทั้งสิ้น ที่เรารู้สึกอยู่อย่างไร ที่ผู้อื่นรู้สึกก็อย่างนั้น หรือที่โดยส่วนใหญ่โดยทั่วไปก็อย่างนั้น และในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์องค์เดียวกัน เราจึงกล่าวได้ว่าเราได้ทำอาสาฬหบูชาอย่างมีความหมายไม่ได้ทำอย่างนกแก้วนกขุนทอง ว่าแต่ปากเหมือนนกแก้วนกขุนทอง และไม่ได้ทำเพียงเป็นพิธีรีตรองเหมือนที่ดขาทำเป็นได้แล้วๆไป หรือทำเพียงเพื่อความสนุกสนานเหมือนกับคนส่วนมากเขาจะทำกัน ขอให้ระลึกว่าเราประชุมกันในที่นี่ เวลานี้เรานั่งกลางพื้นดินภายใต้ต้นไม้ที่มีบรรยากาศเหมือนกับที่ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ประสูติกลางพื้นดินใต้ต้นไม้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้กลางพื้นดินโคนต้นไม้ พระพุทธเจ้าปรินิพพานกลางพื้นดินโคนต้นไม้ มีบรรยากาศอย่างไรเราพอสันนิษฐานได้ ขอให้เราทำในใจอย่างนั้นให้เรามีความระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าในลักษณะที่ว่า แม้ประสูติกลางพื้นดิน ตรัสรู้ก็กลางพื้นดิน ปรินิพพานก็กลางพื้นดิน แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายส่วนที่มากที่สุดก็กลางพื้นดิน เดี๋ยวนี้เราก้เป็นการได้ที่ดีอย่างหนึ่งแล้ว เป็นการได้อะไรที่เหมือนๆกันนั่นคือ นั่งกลางพื้นดิน ตั้งใจฟังธรรมะกลางพื้นดิน ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้ากลางพื้นดิน และเราก็จะทำอาสาฬหบูชานี้กลางพื้นดิน โดยถือเอาความหมายหรือใจความที่สรุปสั้นๆ ว่า การเป็นอยู่ของพระพุทะเจ้านั้นใกล้ชิดธรรมชาติอย่างไรและเพียงไหน เราก็จะเป็นผู้ใกล้ชิดธรรมชาติได้อย่างนั้นหรือเพียงนั้น เราจึงไม่กระดาก จึงไม่ละอาย จึงไม่เกลียดไม่กลัวที่จะนั่งลงไปกลางพื้นดิน และมีต้นไม้เป็นเครื่องมุงเครื่องบัง และมีต้นไม้นี้เป็นสัญญลักษณ์อันวิเศษที่สุดที่จะทำให้ระลึกถึงพระพุทะเจ้าได้โดยง่าย ยิ่งกว่าจะไปนั่งในอาคารสถานที่อันหรูหราสวยงาม ซึ่งมีแต่จูงจิตจูงใจของเราไปในทิศทางอื่น ไม่จูงจิตจูงใจเราไปในทิศทางที่เป็นความเป็นอยู่ของพระพุทะเจ้า ซึ่งเป็นอยู่กับธรรมชาติโดยใกล้ชิดดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ดังนั้นเราจงลืมอะไรทุกสิ่งทุกอย่างเสียให้หมดสิ้น ทำในใจเหมือนกับว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไร เป็นผู้สิ้นเนื้อประดาตัวในวัตถุสิ่งของแต่มีจิตใจที่ร่ำรวยไปด้วยคุณธรรม กำลังเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์โดยแท้จริงแล้ว ทำการเวียนประทักษิณเพื่อเป็นที่ระลึกแก่การประกาศธรรมจักร ซึ่งในที่นี้ไม่มีอะไรมากกว่าแผ่นจำลองศิลาธรรมจักรซึ่งปรากฎอยู่ต่อหน้าท่านทั้งหลายในที่นี้ ถ้าท่านทั้งหลายเป็นผู้มีความรู้หรือผู้มีคุณธรรมอย่างพุทธบริษัทอยู่บ้าง ก็คงจะไม่คิดว่าแผ่นปูนปั้นนี้เป็นแผ่นปูนปั้นอย่างเดียว แผ่นปูนอันนี้เป็นแผ่นปูนก็จริง แต่ในที่นี้เรานำมาประดิษฐานไว้ในฐานะเป็นสัญญลักษณ์เครื่องหมายที่จะนำความรู้สึกเกิดแก่จิตใจ แต่สัญญลักษณ์นี้จะเป็นสัญญลักษณ์ได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจความหมาย ดังนั้นเราจงรู้ว่าสัญญลักษณ์นั้นมีความหมายว่าอย่างไร สัญญลักษณ์ลูกล้อ วงกลม เป็นสัญญลักษณ์ที่เขาใช้มาตั้งแต่โบราณกาล ก่อนพระพุทธเจ้าเสียด้วยซ้ำไป หมายถึงสิ่งที่มีอำนาจ แม้ในทางโลกซึ่งเป็นเรื่องของพระเจ้าจักรพรรดิที่จะครองโลกเขาก็ใช้สัญยลักษณ์ล้อวงกลมนี้เป็นสัญญลักษณ์แห่งความมีอำนาจด้วยเหมือนกัน ครั้นพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลก มีอาณาจักรแบบใหม่ขึ้นมาเป็นอาณาจักรในทางธรรม พระพุทธเจ้าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจปกครองธรรมาจักรของพระองค์ คนจึงคิดสัญญลักษณ์รูปวงล้อเป็นสัญญลักษณ์แทนธรรมาจักรนั้นตรงกัน เพราะฉะนั้นจึงต้องรู้ไว้ว่า สัญญลักษณ์ล้อนี้เป็นสัญญลักษณ์แห่งอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นสัญญลักษณ์ของพระจักรพรรดิผู้ครองโลกก็ใช้เป็นสัญญลักษณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกาศ อนุตรธรรมจักรก็ได้ ถ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราเรียกว่า อนุตรธรรมจักร จักรก็คือวงล้อ ธรรมะ คือ ธรรม ธรรมจักรคือวงล้อแห่งธรรม อนุตรก็แปลว่า ไม่มีชนิดอื่นยิ่งกว่า ส่วนธรรมของพระจักรพรรดินั้นไม่ได้เรียกว่า อนุตรธรรมจักร เขาเรียกว่า จักรเฉยๆ แต่มีอำนาจพอที่จะปราบปรามข้าศึกใน 4 ทวีปหรือทั่วโลกให้เป็นข้าของพระจักรพรรดินั่นได้ มีความหมายอย่างนี้ แต่มุ่งหมายต่างกัน ธรรมจักรหมายถึงพระธรรม มีหน้าที่ที่จะแผ่ไปทั่วสากลเพื่อที่จะครอบงำย่ำยีเสียซึ่งมิจฉาทิฐิ ซึ่งเป็นเหมือนข้าศึกศัตรูในโลก หรือพูดภาษาชาวบ้านก็ว่าเป็นเสนียดจัญไรในโลก อนุตรธรรมจักรของพระพุทธเจ้าคือธรรมะนั้นจะต้องหมุนไปๆ ให้ทั่วโลกเพื่อกำจัดเสียซึ่งเสนียดจัญไรของโลก เพื่อที่จะกำจัดเสียซึ่งข้าศึกศัตรูของโลก แต่ที่นี่คำว่าโลกในที่นี้มันหมายถึงหัวใจคน ซึ่งไม่ใช่โลกแผ่นดิน โลกแผ่นดินนั่นเป็นหน้าที่ของธรรมจักรของพระจักรพรรดิตามธรรมดา แต่ถ้าโลกหัวใจคนแล้วก็เป็นหน้าที่ของอนุตรธรรมจักรของพระพุทธเจ้า อนุตรธรรมจักรของพระพุทธเจ้าจึงทำหน้าที่เข้าไปกวาดล้างสิ่งสกปรก เสนียดจัญไรในหัวใจของทุกคน ดังนั้นจงทำความรู้สึกด้วยกันทุกคนว่า เราทุกคนไม่ควรจะมีสิ่งสกปรกเสนียดจัญไรอยู่ในหัวใจที่ทำให้เราประพฤติชั่ว ทำให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ทำให้ลักขโมย ทำให้ประพฤติผิดในกาม ให้พูดเท็จ ให้กินเหล้าเมายา เสพสุราเมรัยเป็นต้น นี่เป็นสิ่งเสนียดจัญไรที่มีอยู่ในจิตใจซึ่งจะต้องถุกกวาดล้างไปโดยอนุตรธรรมจักร ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์วงล้อแสดงปรากฏอยู่แต่มีความหมาย คือเป็นสิ่งที่จะหมุนไปๆ ทั่วโลกแห่งจิตใจของสรรพสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์มนุษย์ เป็นสัตว์เทวดา เป็นมาร เป็นพรหม เป็นอะไรก็ตามถ้ายังมีหัวใจที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลสแล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องกวาดล้างด้วยอนุตรธรรมจักรนี้ ดังนั้นเราควรจะเห็นเป็นไปได้ว่าสิ่งที่เห็นว่าเป็นธรรมจักรนี้ไม่ได้เป็นของเล็กน้อยเลย และสัญญลักษณ์ของสิ่งนั้นควรเป็นสิ่งสูงสุดตามไปด้วย เราจึงเอามาประดิษฐานไว้ให้ปรากฏแก่สายตา หรือว่าท่านทั้งหลายจะได้มองเห็นแผ่นปูนปั้นให้เข้าใจความหมายของคำว่า ธรรมจักร แล้วทะลุแผ่นปูนปั้นนั้นไปจนไม่เห็นแผ่นปูนปั้นนั้น แต่เห็นธรรมะที่แท้จริง ซึ่งมีฤทธานุภาพในการที่จะกวาดล้างสิ่งสกปรกและเสนียดจัญไรในจิตใจคนทุกคน จะต้องหมดจากจิตใจของเราก่อนใครอื่นทั้งหมด จึงจะเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราจะทำอาสาฬหบูชา สิ่งอื่นไม่สำคัญ สำคัญแต่การกระทำในใจอย่างนี้ คนโง่ คนเขลามัวแต่จะสาระวนแต่จะจัดการทางวัตถุแต่อย่างเดียว อย่างนั้น อย่างนี้ ไม่สนใจในทางกระทำทางจิตใจ ไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะฟัง ไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะเข้าใจ ไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำในใจให้เป็นไปตามนั้น นี่เรียกว่าคนพาล คือ เป็นคนที่ยังอ่อนอยู่ เป็นคนโง่ คนเขลา รู้จักแต่เรื่องทางวัตถุอย่างเดียว เราควรจะเติบโตขึ้นมาตามลำดับให้สมกับที่เวลามันล่วงไป ตัวเราทำอาสาฬหบูชาเมื่อปีกลายมีความรู้สึกอย่างไรปีนี้ก็ยังมีความรู้สึกอย่างนั้นแล้วก็เรียกว่าเสียทีที่กระทำ คือไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้ก้าวหน้าขึ้นไป ไม่ได้เจริญในทางธรรมยังโง่อยู่อย่างเดิม ยังไม่มีอะไรที่เป็นพุทธบริษัทมากขึ้นไปกว่าเดิม จึงยังฟังสิ่งต่างๆ ไม่ถูกอยู่ตามเดิม แม้ว่าจะพูดซ้ำซากอย่างเดียวกันอยู่กี่ปีก็ยังฟังไม่ถูกอยู่ตามเดิม เพราะว่าไม่ฟัง เพราะว่าไม่ตั้งใจฟัง เพราะไม่เข้าใจและไม่ส่งใจไปตามนั้น เพราะฉะนั้นจึงขอวิงวอนเป็นพิเศษว่าทำยังไงเสียก็ขอให้ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้วมา ให้ทุกคนตั้งใจฟังมากกว่า เข้าใจมากกว่า ส่งจิตใจไปตามเพื่อเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้มากกว่า และเวียนเทียนประทักษิณด้วยความสงบที่มากกว่าและมีความรู้สึกซึมซาบอยู่ในใจขณะที่เวียนเทียนนั้นลึกซึ้งกว่า กว่าปีที่แล้วมา ให้สมกับที่เรามีความศรัทธา มีความเชื่อ มีความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนและมีความก้าวหน้าจนกว่าจะถึงที่สุด จนกระทั่งว่าไม่มีความทุกข์ ไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ในใจ เวลานี้เราไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์อย่างไร ขอให้ภาวะเช่นนี้มีการขยายตัวยืดยาวออกไป เป็นเวลายาวนาน ตลอดวันตลอดคืน ตลอดเดือนตลอดปี ไม่มีอะไรมากกว่านี้ คือเรามีสติสัมปชัญญะรักษาสภาวะที่เป็นความสะอาด สว่าง สงบนี้ไว้ให้ได้มากที่สุดนานที่สุดเท่านั้นเอง อย่าให้เกิดๆ ดับๆ เป็นการโลเลและเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ เราจะต้องเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดกว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับพุทธบริษัทเรา คือการที่เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่กับเนื้อกับตัวของเราอยู่เสมอนั่นเอง แม้ว่าเราจะทำอะไรมนที่ไหน อย่างไร ก็มีจิตใจที่ประกอบอยู่ด้วยพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คือ ความสะอาด สว่าง สงบมากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ บางคนมีความโง่มาก ถึงกับนึกว่าเราจะต้องไปทำการทำงานประกอบอาชีพแล้วเราต้องมีจิตใจเป็นความโลภโมโทสันไปตามนั้น ไม่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหลืออยู่ในจิตใจเลย นี่เป็นความเข้าใจผิดของคนนั้น ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงไม่ว่าจะทำการงานอะไรก็ยังมีจิตใจที่ สะอาด สว่าง สงบอยู่ จะมีประโยชน์ที่สุดที่ความสว่างนั้นเป็นตัวปัญญา เมื่อเราทำอะไรทำการงานอะไรชนิดไหนก็ตามทำด้วยปัญญาแล้วก็มีแต่ผลดีอย่างเดียว และการที่เรามีความสะอาดอยู่ในจิตใจนั้น จะคุ้มกันเราไม่ให้ทำผิด ทำชั่ว นี่เป็นเครื่องรางอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าพระเครื่องมารวมกันตั้งเกวียน หรือร้อยเกวียน หรือพันเกวียน ก็ไม่สู้ภาวะแห่งความซื่อตรงต่อตัวเอง ความสะอาดในจิตใจของตัวเองจะเป็นเครื่องรางที่คุ้มกันเรา รวมทั้งความฉลาดของเราคือความสว่างไสวในจิตใจของเรา ก็ยิ่งเป็นความคุ้มกัน ดังนั้นเราจึงมีความสงบเย็น เป็นสุขอยู่ในขณะนั้น แม้ในขณะทำการทำงาน หรือแม้ที่สุดแต่เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งคนส่วนมากจะต้องใช้กิเลส เราก็ไม่ต้องใช้กิเลส เราทำด้วยจิตใจที่ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะตามที่เราจะทำได้อย่างไร เราจะตีด่าว่ากล่าวเด็กๆ ที่เป็นลูกเป็นหลาน เราก็ไม่จำเป็นต้องบันดาลโทสะ จงสำรวมจิตใจให้มีความสว่าง สะอาด สงบอยู่ตามเดิม แล้วใช้อำนาจของความสว่างคือสติปัญญานั้นทำไปตามที่รู้สึกว่าควรทำอย่างไรในที่สุดก็เป็นผลดี แม้ที่สุดแต่การที่เราจะบริโภควัตถุปัจจัยสิ่งของต่างๆ ตามธรรมดาของมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะต้องเป็นไปด้วยสติสัมปชัญญะ ถ้ายังบังคับตนไม่ได้ยังจะต้องเกี่ยวข้องด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสก็ยังต้องทำไปด้วยสติสัมปชัญญะอย่างนี้มันก็ไม่สูญเสียไปโดยสิ้นเชิง คือจะยังมีความสะอาด สว่าง สงบ เหลืออยู่บ้างตามสมควรที่พอจะเรียกได้ว่ายังพอมีอยู่กับเนื้อกับตัว แต่ถ้าเราโง่เขลาไปตามอำนาจกอเลสโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็ไม่มีอะไรเหลือและการกระทำนั้นๆ ก็จะเหมือนกับการกระทำของสัตว์เดรฉานไม่ผิดไม่แปลกไม่แตกไม่ต่างอะไรกันเลย แล้วจะมีความดับทุกข์ได้อย่างไรจะเป็นมนุษย์ได้ที่ตรงไหน เป็นคนธรรมดาเป็นมนุษย์ธรรมดาก็ไม่สมกันเสียแล้ว เพราะมนุษย์นี้แปลว่ามีใจสูง ใจอย่างนี้มันไม่สูงจึงไม่ใช่มนุษย์และถ้าเป็นพุทธบริษัทด้วยแล้วใจก็ต้องมีความสะอาด สว่าง สงบกว่ามนุษย์ธรรมดา เราทุกคนจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษว่าทำอย่างไรเสียก็ขอให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่กับเนื้อกับตัวของเราทุกเวลา ทุกสถานที่ คือมีความสะอาด สว่าง สงบ ตามมากตามน้อยอยู่กับเนื้อกับตัวเสมอไป เราชิมรสของความสะอาด สว่าง สงบได้เสมอๆ โดยเพาะอย่างยิ่งเช่นเวลานี้ เราก็ชิมรสของความสะอาด สว่าง สงบได้ และเราพอใจเราก็รักษาเอาไว้ สงวนเอาไว้อยู่กับเนื้อกับตัวเรื่อยๆ ไป ไม่ใช่แค่เวียนเทียนแล้วก็เลิกไป แม้จะกลับไปบ้านก็ยังต้องมีจิตใจลักษณะเช่นนี้ แม้ในเมื่อจะต้องกระทำการงานก็ยังต้องมีจิตใจเช่นนี้ แม้ในเมื่อจะต้องมีการต่อสู้วิวาทกัน แม้จะเป็นถ้อยร้อยความกัน เราพุทธบริษัทก็จะต้องทำด้วยจิตใจที่ประกอบไปด้วยสติสัมปชัญญะ รักษาความสะอาด สว่าง สงบไว้ให้ได้ ให้มากที่สุด ไม่ประกอบไปด้วยกิเลสมืด กลุ้มไปเหมือนเหล่าอื่น การกระทำของเราก็จะเป็นไปแต่ในทางดี ในทางถุกต้องในส่วนเดียว มีทางที่จะเป็นประโยชน์และได้รับประโยชน์อย่างยิ่งด้วย แล้วเราเองก็ไม่เสียสิ่งที่สำคัญ ที่มีค่าที่สุดก็คือความสงบด้วย เราจึงกล่าวได้ว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพุทธศาสนา ถ้าท่านทั้งหลายมองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ก็ขอให้ระลึกไปถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงประกาศธรรมจักร ได้หมุนไปทั่วๆ สากลจักรวาลผ่านจิตใจของเราทุกคน ชำระชะล้างสันดานของเราทุกคนให้หมดสิ่งสกปรก เสนียด จัญไรกล่าวคือกิเลส เป็นจิตใจอย่างมนุษย์มีความบริสุทธิ์ มีความสะอาด สว่าง สงบเป็นต้น ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้เป็นการท้าพิสูจน์ว่ายังมีอะไรที่ดีไปกว่านี้ เมื่อเรามองเห็นว่าไม่มีอะไรดีไปกว่านี้เราก็มีความภาคภูมิใจที่เกิดมาได้รู้ได้เข้าใจ หรือได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรได้รับ ไม่เสียทีที่เกิดมาแล้ว เราเองก็เกิดมาเพื่อศึกษา ปฏิบัติพุทธศาสนา มีลูกมีหลานก็ให้บวชเรียนเพื่อให้รู้พุทธศาสนาให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ควรจะได้และทุกคนก็มีหวังที่จะได้สิ่งนี้ สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์ควรจะได้ เราจึงกระทำทุกอย่างทุกประการเพื่อให้ได้ และกระทำทุกอย่างทุกประการเพื่อจะรักษาไว้ แม้การทำอาสาฬหบูชาในวันนี้ก็มีความมุ่งหมายจะให้ได้มาและรักษาไว้ในสิ่งที่ได้ ที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้นั้นเหมือนกัน นั่นจึงแน่ใจลงไปทุกคนว่าเรากำลังได้ดีที่สุดแล้ว กำลังจะทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วและเราจะทำอยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นคติ เป็นอุทาหรณ์ เป็นตัวอย่างแก่คนรุ่นหลังที่จะได้กระทำสืบๆกันไปเหมือนกับเป็นการสืบอายุพุทธศาสนาส่วนหนึ่งได้ และเพื่อประโยชน์ตลอดกาลนานด้วย นี่เป็นคำอธิบายสิ่งที่เรียกว่าอาสาฬหบูชาและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันกับการประการอนุตรธรรมจักร เป็นส่วนบุพภาคในส่วนธรรมทศนากัณฑ์แรกนี้ ซึ่งจะต้องกล่าวกันให้แจ่มแจ้งในใจก่อนเทศน์ แต่ที่จะทำอาสาฬหบูชา รายละเอียดของตัวธรรมจักรอย่างไรเราจะได้กล่าวกันในธรรมเทศนากัณฑ์หลัง ในที่นี้ก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ว่าเราเป็นหนี้บุญคุณ เป็นหนี้พระเดชพระคุณเป็นหนี้พระมหากรุณาธิคุณของพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน เราจะใช้หนี้ทุกอย่างทุกประการ เป็นลูกหนี้ที่ซื่อตรงทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยชีวิตจิตใจในการใช้หนี้นั้น และเมื่อเจ้าหนี้ไม่เรียกร้องอะไรยิ่งไปกว่าการปฏิบัติธรรมะแล้วเราก็ต้องไม่ทำอย่างอื่น เราก็ต้องทำสิ่งที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะให้สมกับที่เป็นลูกหนี้ที่ดี และมีบุญอย่างยิ่งที่ได้มีเจ้าหนี้ที่ดีคือพระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้เรียกร้องอะไรให้ใช้หนี้ไปกว่าการประพฤติธรรมะโดยยอมรับเอาล้อธรรมจักรของพระองค์ ให้เข้าไปบดขยี้สิ่งที่สกปรก เสนียด จัญไรในหัวใจของเราทุกคนให้หมดไปและท่านก็ต้องการเพียงเท่านั้น เราจึงยกมือสาธุการ เปล่งวาจาสาธุการ มีจิตใจระลึกนึกสาธุการในความประเสริฐที่สุดของพระองค์ จนถึงกับพระองค์ทรงกล้าท้าว่าไม่มีใครเหมือนพระองค์ที่ตรัสท้าทายแก่อาชีวกคนนั้น และเราก็จะได้ชื่อว่าเป็นพุทธบริษัทเต็มเนื้อเต็มตัว หวังว่าท่านทั้งหลายจะมีความเข้าใจอันนี้ไว้ประจำใจตลอดเวลาที่ทำอาสาฬหบูชาเป็นอย่างน้อย และติดอยู่ในใจเป็นทุนเป็นรอนสำหรับผสมผสานให้งอกงามยิ่งๆขึ้นไปเป็นความก้าวหน้าในทางพุทธศาสนาตลอดทุกทิวาราตรีกาลนานเทอญ